ในวันที่เร่งรีบการขับรถขึ้นทางด่วนเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใครหลายๆเลือก เพราะไม่ต้องติดไฟแดง แต่เวลาขึ้นทางด่วนบางครั้งมักมีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น นั่นก็คือ ขึ้นทางด่วนไม่มีเงินสด มีเงินสดแต่ไม่พอจ่าย หรือรีบจนลืมกระเป๋าสตางค์ ลืมกดเงินสดมาด้วย หากใครต้องเจอปัญหานี้ไม่ต้องตกใจ เพราะบทความนี้ RodPromptkai มีวิธีรับมือง่ายๆ มาฝาก
1.แจ้งพนักงานด่านเก็บเงิน
หากขึ้นทางด่วนแล้วไม่มีเงินสดหรือเงินสดไม่พอ เราสามารถแจ้งกับพนักงานได้เลย พร้อมบอกเหตุผลของเรา จากนั้นพนักงานก็จะดำเนินการบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทั้งยี่ห้อรถ เลขทะเบียนรถ วัน-เวลา รวมถึงข้อมูลส่วนตัวบางส่วน เราก็สามารถผ่านทางด่วนไปได้เลย จากนั้นจะให้ชำระค่าผ่านทางย้อนหลังได้ภายใน 7 วัน
2.ชำระผ่านแอปพลิเคชั่น
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน M-Pass, Easy Pass, Tollway Plus และกรอกข้อมูลทะเบียนรถให้ครบถ้วน จากนั้นแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางว่าต้องการชำระผ่านแอปพลิเคชัน โดยสามารถชำระค่าผ่านทางย้อนหลังได้ 7 วัน
3.ชำระย้อนหลังที่จุดบริการ
มีทางด่วนบางด่านจะมีจุดบริการสำหรับชำระค่าผ่านทางย้อนหลัง เราสามารถขับรถไปที่จุดบริการนั้นๆและแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลยว่าจะชำระค่าผ่านทางย้อนหลัง
ปัจจุบันยังไม่สามารถจ่ายค่าทางด่วนผ่านแอปธนาคารหรือสแกนจ่ายได้ แต่สามารถจ่ายค่าทางด่วนผ่านบัตรเครดิต/เดบิตได้แล้ว โดยให้ขับรถเข้าไปที่ช่องเงินสดที่มีสัญลักษณ์บัตร Visa และ Mastercard จากนั้นให้ลดกระจกลงแล้วแตะบัตรเครดิตที่มีสัญลักษณ์ Contactless Payment ที่เครื่องรับชำระที่มีโลโก้ Visa หรือ Mastercard และสัญลักษณ์ Contactless โดยเปิดให้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิตเพียง 5 ด่าน ดังนี้
- ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1)
- ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2)
- ทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกฯ
- ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน - ปากเกร็ด)
- ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)
หากไม่ได้กลับไปชำระค่าผ่านทางภายใน 7 วัน จะมีจดหมายแจ้งเตือนให้ชำระไปยังที่บ้าน จะต้องรีบนำจดหมายดังกล่าวไปชำระค่าผ่านทางที่ด่านใดก็ได้ภายใน 30 วัน หรือตามที่ระบุไว้ในจดหมาย หากไม่ชำระค่าผ่านทาง หรือมีเจตนาไม่ชำระค่าผ่านทางสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณีขึ้นอยู่กับทางด่วนที่ค้างชำระ คือ
1.หากค้างชำระทางด่วนในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) จะมีโทษปรับ 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ฐานหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าผ่านทาง
2.หากค้างชำระทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของค่าผ่านทาง ตาม พ.ร.บ. กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน 2497 มาตรา 7
3.หากค้างชำระทางด่วนสัมปทาน ดอนเมืองโทลล์เวย์ จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10 เท่า ของค่าผ่านทาง ตาม พ.ร.บ. ทางหลวงสัมปทาน 2542 มาตรา 33
รู้แบบนี้แล้วถ้าขึ้นทางด่วนไม่มีเงินสดจริงๆ ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะสามารถกลับมาชำระค่าทางด่วนได้ภายใน 7 วันได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนขับรถออกจากบ้านก็อย่าลืมดูเงินในกระเป๋าของเราด้วยว่าจะมีพอจ่ายค่าทางด่วนไหมมีติดตัวไว้จะดีที่สุด
สนใจซื้อขายรถมือสองคุณภาพดี ราคาดีๆ ต้องที่นี่ที่เดียว www.rodpromptkai.com คลิ๊กเลย !!
อ่านเพิ่มเติม : วิธีใช้ Google Street View บนมือถือ ดูสถานที่จริงก่อนออกเดินทาง